โรคกระเพาะ ภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม
หากใครได้อ่านที่มาของเพจเรา เมื่อแฟนผมอย่ากเป็นสาว healthy ก็จะพอรู้ว่า
จุดเริ่มต้นในการออกกำลังกายของเด็กน้อยไม่ได้มาจากความอ้วน แต่เกิดจากโรคกระเพาะ
จริงๆ แล้วเด็กน้อยมีอาการของโรคกระเพาะมาตลอดตั้งแต่ตอนเรียนมหาลัย เป็นๆ หายๆ
หลายครั้งที่ต้องตื่นขึ้นมาตอนเช้ามืดเพราะปวดท้อง พอเริ่มมีอาการก็จะกินยา
หาหมอบ้างถ้าปวดติดกันหลายวัน พออาการดีขึ้นก็กลับไปทำเหมือนเดิม กินเหมือนเดิม
ปล่อยปะละเลย อาการปวดท้องก็กลับมา วนไปวนมาซ้ำๆ อยู่อย่างนี้
โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร อาการของโรคกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง แล้วจะรักษาได้อย่างไร เรามาศึกษามันไปพร้อมๆ กันครับ
…
โรคกระเพาะคืออะไร
โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือเรียกสั้นๆว่าโรคกระเพาะอาหาร หมายถึงการเกิดแผล
ในเยื่อบุอาหาร ตรงส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย คนที่เป็นโรคกระเพาะ แล้วไม่ได้รับการดูแล
อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของโรคกระเพาะ
- ปวด จุก แน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (เป็นอาการที่พบบ่อย มักเกิดตอนท้องว่างหรือเวลาหิว)
- อาการปวดแน่นท้อง (อาการนี้จะบรรเทาได้ด้วยอาหาร หรือยาลดกรด)
- อาการปวดท้องจะเป็นๆ หายๆ อาจจะเป็นติดต่อกันหลายวันและอาการหายไปเป็นเดือนๆ แล้วกลับมาเป็นอีก
- ปวดแน่นท้องกลางดึก
อาการอื่นๆ ที่อาจจะพบได้
- น้ำหนักลด
- เบื่ออาหาร
- แน่นท้อง ท้องเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
** หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
- ปวดท้องทันทีเหมือนถูกมีดบาด ขยับตัวหรือหายใจแรงๆ จะทำให้ปวดเพิ่มขึ้นและไม่หายปวด อาการนี้อาจจะเกิดจากกระเพาะอาหารทะลุ
- อุจจาระดำหรืออาเจียนเป็นเลือด
- แน่นท้องและอาเจียนบ่อยออกมาเป็นอาหารที่ทานเข้าไป อาจจะเกิดจากลำไส้อุดตัน
สาเหตุของโรคกระเพาะ
- เกิดจากความบกพร่องของร่างกายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
- เกิดจากภาวะทางอารมณ์ เครียด กังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับและพักผ่อนไม่เพียงพอ
- เกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต ทานอาหารไม่เป็นเวลา อดอาหาร ดื่มชา กาแฟมากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร” ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผนังและเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง มีความทนทานต่อกรดและน้ำย่อยน้อยลง ทำให้แผลหายช้า
วิธีรักษาโรคกระเพาะ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการกระตุ้นอาการของโรค ทั้งพฤติกรรมการทานอาหาร งดของมันๆ อาหารรสจัดจ้าน ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารให้ตรงเวลา เป็นต้น
- รักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน เช่น การให้ยาลดกรด ยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะและหลอดอาหาร หรือยารักษาโรคกระเพาะ แต่การใช้ยาเหล่านี้บ่อยๆ เป็นระยะเวลานานๆ อาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาได้
- รักษาด้วยสมุนไพร ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรตัวเลือกที่นิยมมากในการช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะ ตัวขมิ้นชันจะช่วยขับลม ต้านการเกิดแผลในกระเพาะและลำไส้ ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเมือกมาเคลือบเยื่อบุกระเพาะและลำไส้ อีกทั้งยังช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่ไม่มีพิษเฉียบพลัน ไม่สะสมในตับ ถือว่ามีความปลอดภัยสูงในการนำมาใช้รับประทาน

…
หลังจากเรารู้ที่มาของโรคกระเพาะกันแล้ว เรามาดูกันต่อว่าเด็กน้อยสู้กับโรคกระเพาะนี้ยังไง
มีอยู่วันนึงเด็กน้อยเกิดปวดท้องตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ต้องกินยาลดกรดและยาเคลือบกระเพาะ
เข้าไปช่วย ปกติแล้ว หลังจากกินยาเคลือบกระเพาะ อาการก็จะทุเลาลง
แต่ในวันนั้นเด็กน้อยยังปวดท้องไม่หาย จนไม่สามารถนอนหลับได้
สุดท้ายต้องพาไปโรงพยายบาลตอนตี 5
หลังจากอาการปวดท้องรุนแรงของเด็กน้อยดีขึ้นแล้ว เด็กน้อยโดนหมอสั่งห้ามอาหารรสจัด
งดชา กาแฟ ไม่สามารถทานของที่ชอบได้เลย ทานได้แค่โจ๊ก และข้าวต้ม
และเพราะสาเหตุเหล่านี้เอง ทำให้เด็กน้อยหันมาดูแลตัวเองมากขึ้นเพื่อเป็นการรักษาในระยะยาว ดีกว่ากินยาเพื่อให้หายปวดไปวันๆ เพียงเท่านั้น อาหารคลีนและการออกกำลังกาย จึงเป็นทางออกของปัญหานี้
…
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 4-5 เดือนแล้ว ถึงแม้เป้าหมาย sixpack จะยังไม่บรรลุ
แต่เด็กน้อยมีสุขภาพดีขึ้นมาก ทั้งจากการเลือกทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อาการของโรคกระเพาะแทบไม่เกิดขึ้นเลย แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว…
ขอบคุณข้อมูลโรคกระเพาะจาก
http://health.kapook.com/view71479.html
http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/GI/pu/pu_treat.html
วิธีรักษาโรคกระเพาะ, โรคกระเพาะห้ามกิน, สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร, สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ, อาการโรคเครียดลงกระเพาะ